top of page
Writer's pictureYou-Dee Organization

ทฤษฎีจิตสังคมของ Erik Erikson

Updated: Feb 7, 2022



ใครคือ Erik Erikson?

  • Erik Eriksonเป็นนักจิตวิทยาชื่อดังผู้ตั้งทฤษฎีการพัฒนาจิตสังคม (Theory of Psychosocial Development) และวิกฤตด้านตัวตน (Identity Crisis) โดยศึกษาพัฒนาการในแต่ละช่วงชีวิต ทั้งวัยเด็ก วัยผู้ใหญ่ และวัยสูงอายุ ฯลฯ

  • ประวัติ

    • เกิดเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน ค.ศ.1902 ที่แฟรงก์เฟิร์ต ประเทศเยอรมนี เป็นลูกของ Karla Abrahamsen ซึ่งเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวชาวยิวก่อนที่จะแต่งงานกับ Dr. Theodore Homberger ซึ่งข้อมูลว่า Homberger ไม่ได้เป็นพ่อแท้ ๆ ได้ถูกปกปิดไว้ ซึ่ง Erikson ได้รู้ภายหลังทำให้เกิดคำถามถึงตัวตนของเขา ทำให้เขาเกิดความสนใจเกี่ยวกับการศึกษาเรื่องตัวตน และเกิดความสนใจยิ่งขึ้นอีกเมื่อเขาได้ถูกล้อและกลั่นแกล้งในช่วงวัยเรียนจากรูปลักษณ์และการเป็นชาวยิว

    • Erik ไม่เคยได้ปริญญาของคณะแพทย์ หรือจิตวิทยาอย่างทางการ เขาเรียนที่ Das Humanistische Gymnasium โดยสนใจวิชาประวัติศาสตร์, ภาษาละติน และศิลปะ หลังจากนั้นเขาก็ลาออกจากโรงเรียนศิลปะมาเที่ยวที่ยุโรปกับเพื่อน

    • หลังจากนั้นเพื่อนของเขาก็ชวนให้เขามาสอนซึ่งทำให้เขาได้พบกับ Anna Freud, ซึ่งเขาได้แนะนำจาก Freud ให้ศึกษาเรื่อง Psychoanalysis และได้ใบรับรอง 2 ใบจาก the Montessori Teachers Association และ the Vienna Psychoanalytic Institute หลังจากทำงานหลายปีเขาก็ได้พบ Sigmund Freud, นักจิตวิทยาชื่อดัง และก็ได้เป็นคนไข้ของ Anna ด้วย

    • Erik ได้พบกันนักเต้นชาวแคนาดาชื่อ Joan Serson ซึ่งสอนที่เดียวกับเขา และแต่งงานในปี 1930 และมีลูกด้วยกัน 3 คน และได้ย้ายไปสหรัฐอเมริกาในปี 1933 และถึงแม้ไม่ได้ปริญญาอย่างทางการ เขาก็ได้รับเชิญมาเป็นอาจารย์ที่คณะแพทย์ มหาวิทยาลัย Harvard และเปลี่ยนชื่อจาก Erik Homberger เป็น Erik H. Erikson และนอกจากสอนเขาก็ทำงาน psychoanalysis กับเด็ก ๆ

    • ช่วงบั้นปลายชีวิต เขาก็ได้เป็นอาจารย์ที่ the University of California ที่ Berkeley, Yale, the San Francisco Psychoanalytic Institute, Austen Riggs Center, และ the Center for Advanced Studies of the Behavioral Sciences และได้เขียนหนังสือเกี่ยวกับทฤษฎีและงานวิจัยของเขา เช่น Childhood and Society , The Life Cycle Completed,Gandhi's Truth ฯลฯ

ทฤษฎีจิตสังคม (Erikson’s Theory of Psychosocial Development)

  • Erik Erikson ได้ตั้งทฤษฎีเกี่ยวกบการพัฒนาทางจิตสังคมจากทารกถึงผู้ใหญ่โดยแบ่งออกเป็น 8 ระยะ ซึ่งในแต่ละระยะ แต่ละคนจะได้พบกับวิกฤตทางจิตสังคมซึ่งอาจส่งผลลัพธ์ในทางบวกหรือลบต่อการพัฒนาบุคลิกภาพภาพ Erikson ได้อธิบายว่าวิกฤตเหล่านี้เกิดจากธรรมชาติของจิตสังคมซึ่งประกอบด้วยความต้องการทางจิตของแต่ละคนซึ่งขัดแย้งกับความต้องการทางสังคม และจากทฤษฎีความสำเร็จในแต่ละระยะส่งผลให้เกิดบุคคลิกภาพที่ดีและการมีลักษณะที่พึงมี (Virtue) ซึ่งก็คือลักษณะที่เป็นจุดแข็งที่ Ego สามารถแก้วิกฤตต่าง ๆ หากไม่สำเร็จจะลดความสามารถในการไปขั้นต่อไปและจะเกิดบุคคลิกภาพหรือตัวตนที่ไม่ดี ซึ่งสามารถแก้ไขได้ในภายหลัง

  • พัฒนาการทางจิตสังคม 8 ขั้น


    • ระยะที่1: ไว้วางใจ และ ไม่ไว้วางใจ (Trust vs Mistrust)

      • เป็นระยะเริ่มตั้งแต่เกิดถึงอายุประมาณ 18 เดือน ทารกรู้สึกกังวลกับโลก และต้องการหาผู้ปกครองเพื่อความมั่นคงและการดูแล

      • ถ้าเด็กได้รับการดูแลที่ต่อเนื่อง สามารถคาดเดาได้และวางใจได้ จะสามารถพัฒนาความไว้วางใจได้และรู้สึกปลอดภัย และในทางตรงกันข้าม หากเด็กไม่ได้การดูแลที่ต่อเนื่อง คาดเดาไม่ได้ และไม่น่าไว้ใจ อาจทำให้เกิดความเกิดความไม่ไว้ใจ ระแวงและวิตกกังวลได้ ซึ่งส่งผลให้ทารกไม่มีความมั่นใจกับโลกหรือความสามารถตนเอง

      • หากสำเร็จในระยะนี้จะทำให้เกิดลักษณะที่พึงมี (Virtue) คือความหวัง คือเมื่อเกิดวิกฤตต่าง ๆ จะรู้สึกมีความหวังว่าผู้อื่นจะมาช่วยเหลือ แต่ถ้าทารกไม่สามารถสร้างลักษณะนี้ได้จะทำให้เกิดความกลัวแทน

      • งานวิจัยของ Bowbly[1] และ Ainsworth[2] สนับสนุนด้านนี้เรื่องคุณภาพของความผูกพันธ์ในช่วงต้นชีวิตส่งผลต่อความสัมพันธ์ในอนาคต

    • ระยะที่2: ความเป็นอิสระกับความละอายและสงสัย (Autonomy vs Shame and doubt)

      • เป็นระยะ 18 เดือน ถึงประมาณ 3 ปี เป็นระยะที่เด็กร่ากายขยับได้มากขึ้น และมีทักษะความสามารถเพิ่มขึ้น เด็กจะให้ความสนใจกับการได้ควบคุมชีวิตตนเองมากกว่าทักษะทางกายภาพและความเป็นอิสระ เช่นการตัดสินใจเสื้อผ้าที่จะใส่หรืออาหารที่จะทาน การเลือกของเล่น การเดินหนีพ่อแม่ ฯลฯ

      • หากสำเร็จในระยะนี้จะสร้างลักษณะคือ ความมุ่งมั่น โดยถ้าเด็กได้รับการสนับสนุนให้มีอิสระ จะเกิดความมั่นใจเกี่ยวกับศักยภาพของตัวเอง แต่ในทางกลับกันถ้าถูกต่อว่า ถูกควบคุม หรือไม่ได้รับโอกาสที่จะทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยตนเอง จะทำให้รู้สึกไม่สำเร็จและอาจภาวะผู้อื่นมากเกินไป ขาดความภูมิใจในตนอง และลัอายและสงสัยในความสามารถตนเอง

    • ระยะที่3: ความคิดริเริ่ม กับ ความรู้สึกผิด (Initiative vs Guilt)

      • เป็นระยะที่เด็กแสดงตัวตนมากขึ้น มีชีวิตชีวาและมีการพัฒนาชีวิตที่รวดเร็ว ซึ่งผู้ปกครองอาจมองว่าดื้อด้านได้ ช่วงนี้จะเกี่ยวข้องกับการสื่อสารกับผู้อื่นในโรงเรียนเป็นสำคัญ โดยเฉพาะการเล่น เนื่องจากเด็กมีโอกาสได้ค้นหาทักษะการสื่อสาร เด็กจะมีการสร้างกิจกรรม สร้างเกมต่าง ๆ ทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่นและ ตั้งคำถามและหาความรู้มากขึ้น

      • ถ้าได้รับโอกาสตามที่ได้กล่าว เด็กจะสามารถพัฒนาทักษะความคิดริเริ่ม และมั่นใจในทักษะความเป็นผู้นำและตัดสินใจ ในทางกลับกันหากถูกจำกัด อาจโดยการถูกต่อว่าหรือถูกควบคุม เด็กจะพัฒนาความรู้สึกผิด ซึ่งโดยธรรมชาติของเด็กที่จะไม่ยอมรับการบังคับ ผู้ปกครองมักจะลงโทษและจำกัดความคิดริเริ่มของเด็ก หรือถ้าผู้ปกครองทำให้คำถามเด็กเป็นเรื่องน่ารำคาญหรือเรื่องน่าอายหรือพฤติกรรมอื่น ๆ ที่อาจแสดงออกเป็นข่มขู่ เด็กจะรู้สึกผิดว่าตัวเองทำตัวน่ารำคาญ ซึ่งหากมีความรู้สึกนี้มากจะทำให้เด็กปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นลดลง และอาจจำกัดความคิดสร้างสรรค์ แต่ความรู้สึกผิดบางอย่างก็สำคัญ ไม่อย่างนั้นเด็กจะไม่รู้จักการขอบเขตของตนเอง

      • ความสมดุลของความคิดริเริ่มกับความรู้สึกผิดสำคัญ หากระยะนี้เกิดความสำเร็จ เด็กจะพัฒนาลักษณะที่พึงมีคือ เป้าหมาย แต่ถ้าไม่สำเร็จจะสร้างความรู้สึกผิดพลาด

    • ระยะที่4: ขยัน กับ ความมีปมด้อย (Industry vs Inferiority)

      • เป็นระยะประมาณระหว่าง 5 ถึง 12 ปี เด็กเรียนรู้ที่จะอ่านเขียน การคำนวณคณิตศาสตร์พื้นฐานและทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยตนเอง ครูเริ่มมีส่วนสำคัญในวัยนี้ เพื่อนจะมีความสำคัญมากขึ้นและเป็นส่วนสำคัญในความภูมิใจในตนเอง เด็กต้องการการยอมรับจากสังคม และรู้สึกภูมิใจเมื่อทำเป้าหมายสำเร็จ

      • ถ้าเด็กได้รับการสนับสนุนในความคิดริเริ่ม จะทำให้เกิดความขยันและมั่นใจในความสามารถของตนเองในการทำให้ประสบความสำเร็จ ในทางตรงกันข้าม หากไม่ได้รับการสนับสนุน ถ้าจากครอบครัว หรือ ครูจำกัดความคิดริเริ่มทำให้เด็กรู้สึกต่ำต้อย ไม่มั่นใจในความสามารถของนเองและอาจไม่สามารถเข้าถึงศักยภาพของความสามารถของตนเอง ถ้าเด็กไม่สามารถพัฒนาทักษะบางอย่างที่สังคมต้องการ เช่น ความสามารถทางกีฬา อาจทำให้เด็กรู้สึกต่ำต้อย

      • ความล้มเหลวบางส่วนจำเป็นต่อการพัฒนาของเด็กด้านความอ่อนน้อมถ่อมตน ความสมดุลระหว่างความขยันกับความถ่อนตนจึงจำเป็น

      • หากลักษณะนี้เกิดความสำเร็จจะทำให้พัฒนาลักษณะคือ ความสามารถ

    • ระยะที่5: เข้าใจอัตลักษณ์ของตนเอง กับ ไม่เข้าใจตนเอง (Identity vs Role confusion)

      • เป็นช่วงอายุ 12 ถึง18 ปี เด็กในระยะนี้จะหาอัตลักษณ์ตนเองผ่านการค้นหาค่านิยม ความเชื่อและเป้าหมาย เด็กจะมีอิสระมากขึ้น พยายามที่จะหาอาชีพในอนาคต ความสัมพันธ์ ครอบครัว บ้าน ฯลฯ เด็กต้องการที่จะหาสังคมที่เหมาะสมกับตนเอง ช่วงนี้เด็กจะให้ความสำคัญกับบทบาทที่เด็กจะเป็นในอนาคต จะค้นหาด้วยตนเองโดย Erikson แบ่งเป็น 2 อย่างคือ ทางเพศ และ ทางอาชีพ เด็กอาจรู้สึกไม่สบายใจกับร่างกายจนกว่าจะปรับตัวได้

      • หากสำเร็จจะทำให้เกิดลักษณะคือ ความจงรักภักดี ซึ่งเกี่ยวข้องกับการผูกมัดตัวเองกับคนอื่นบนพื้นฐานของการยอมรับผู้อื่น แม้จะมีอุดมคติที่ต่างกันก็ตาม จะมีการค้นหาความเป็นไปได้และสร้างอัตลักษณ์ หากสร้างตัวตนในสังคมไม่สำเร็จอาจทำให้สับสน คือ ไม่เข้าใจตัวเองหรือบทบาทตัวเองในสังคม ทำให้เกิดวิกฤตด้านตัวตน และอาจลองlifestyleต่าง ๆ

      • การบังคับอัตลักษณ์อาจทำให้เกิดการต่อต้านโดยอาจสร้างอัตลักษณ์ทางลบ หรือรู้สึกไม่พอใจมากขึ้น

    • ระยะที่6: ความใกล้ชิดสนิทสนม กับ ความรู้สึกเปล่าเปลี่ยว (Intimacy vs Isolation)

      • เป็นช่วงอายุ 18 ถึง 40 จะเกี่ยวข้องกับการสร้างความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับผู้อื่น โดนค้นหาความสัมพันธ์ระยะยาวกับผู้อื่นที่ไม่ใช่ครอบครัว

      • หากสำเร็จจะสร้างความสัมพันธ์ที่ดีและความรู้สึกผูกมัด มั่นคง และความใส่ใจในความสัมพันธ์ หากหลีกเลี่ยงความสัมพันธ์ลึกซึ้ง กลัวความผูกมัด และความสัมพันธ์อาจทำให้เกิดความโดดเดี่ยว เหงา และซึมเศร้าได้

      • ความสำเร็จของระยะนี้ส่งผลต่อลักษณะพึงมีคือ ความรัก

    • ระยะที่7: ความเป็นส่วนรวม กับ ความคิดถึงแต่ตนเอง (Generativity vs Stagnation)

      • ช่วงอายุ 40 ถึง 65 ปี จะต้องการดูแลผู้อื่น มักจะป็นรูปแบบการสั่งสอน หรือ สร้างการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีที่จะเกิดผลประโยชน์ต่อผู้อื่น เป็นการตอบแทนสังคม อาจด้วยการเลี้ยงดูลูก ขยันในงานและทำงานสังคม หรือ องค์กรต่าง ๆ

      • ถ้าสำเร็จจะสร้างความรู้สึกเป็นประโยชน์ และประสบความสำเร็จ หากไม่สำเร็จอาจรู้สึกว่าไม่ได้ให้ความส่วนร่วมทาง ทำให้คิดแต่ตนเองและไม่ขยันในงาน

      • หากสำเร็จอาจสร้าลักษณะคือ การดูแลเอาใจใส่

    • ระยะที่8: ความมั่นคงทางจิตใจ กับ ความสิ้นหวัง (Integrity vs Despair)

      • เป็นช่วงอายุ 65 ปี ถึง บั้นปลายชีวิต เป็นระยะที่คิดถึงความสำเร็จในชีวิต และเกิดความภูมิใจหากรู้สึกประสบความสำเร็จในชีวิต ช่วงนี้จะเป็นช่วงที่ทำงานลดลง เพื่อค้นหาชีวิตวัยเกษียณ ถ้ามองว่าชีวิตที่ผ่านมาไม่ประสบความสำเร็จจะรู้สึกผิดเกี่ยวกับอดีตหรือไม่ประสบความสำเร็จในชีวิต และไม่พอใจกับชีวิต และอาจสร้างความสิ้นหวังซึ่งอาจส่งผลต่อการเกิดโรคซึมเศร้า หรือ ความสิ้นหวัง

      • หากสำเร็จจะนำไปสู่ลักษณะคือ ปัญญา เพื่อให้มองย้อนหลังถึงชีวิตด้วยความรู้สึกสมบูรณ์ และยอมรับความตายโดยปราศจากความกลัว

      • ผู้ที่ฉลาดจะมีทั้งความมั่นคงและความสิ้นหวัง อย่างสมดุลกัน

จุดแข็งและปัญหาที่พบของทฤษฎี

  • จุดแข็งของทฤษฎี

    • มีโครงสร้างที่กว้างโดยเป็นการสังเกตพัฒนาการแบบทั่วทั้งช่วงชีวิต

    • ทฤษฎีของ Erikson ให้ความสำคัญกับการที่มนุษย์เป็นสัตว์สังคม และอิทธิพลของสังคมต่อการพัฒนาการของมนุษย์มากขึ้น

  • ปัญหาที่พบของทฤษฎี

    • Erikson อธิบายทฤษฎีโดยเลือกกลุ่มเป้าหมายหลักจากจากเฉพาะชายชาวยุโรป หรือ อเมริกัน

    • ยังมีประเด็นโต้เถียงว่าการสร้างบุคคลิกภาพเกิดเฉพาะในช่วงวัยเด็กหรือเกิดเป็นจบระยะหนึ่งแล้วต่ออีกระยะของทั่วทั้งชีวิต

    • ทฤษฎีอธิบายหลักการในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งของระยะและการเปลี่ยนไประยะถัดไปได้ไม่ดี และไม่ได้อธิบายว่าประสบการณ์อะไรที่จำเป็นในแต่ละระยะเพื่อแก้ความขัดแย้งภายในระยะและก้าวข้ามไประยะถัดไป

    • การอธิบายประเด็นของช่วงวัยเด็กโตด้วยบุคคลิกที่พึงมีคือความจงรักภักดีอย่างเดียวไม่เพียงพอ ซึ่งความจงรักภักดีโดยไม่มีความยุติธรรมเลยอาจทำให้เกิดปัญหาได้[3]

  • ปัจจุบันมีงานวิจัยที่ที่สนับสนุนทฤษฎีของ Erikson แต่ก็ยังมีหลายๆงานวิจัยขัดแย้งกับทฤษฎีของ Erikson ตัวอย่างประเด็นที่ยังเป็นที่ถกเถียง เช่น ฝ่ายสนับสนุนทฤษฎี Erikson มีความเห็นว่าผู้ที่สร้างตัวตนในช่วงวัยรุ่นได้ดีจะมีโอกาสสร้างความสัมพันธ์ลึกซึ้งได้ดีกว่าในวัยผู้ใหญ่ตอนต้น และยังได้มีการแบ่งระยะย่อย ๆเพิ่ม จากระยะต่าง ๆ ที่ Erikson ได้นำเสนอ[4] และในฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยให้ความเห็นต่างว่า ทั้งการสร้างตัวตนและพัฒนาจะยังสร้างต่อไปเมื่อเข้าสู่การเป็นผู้ใหญ่[5]

  • ดังนั้น ทฤษฎีจิตสังคมของErikเป็นเพียงแค่หนึ่งในทฤษฎีที่ใช้อธิบายการพัฒนาของลักษณะนิสัย นักวิจัยบางส่วนอาจจะสนับสนุนทฤษฎีนี้แต่ไม่ใช่ว่าทุกด้านของทฤษฎีจะมีหลักฐานสนับสนุน แต่ทฤษฎีนี้ยังมีประโยชน์อยู่ เช่น การอธิบายความขัดแย้งและปัญหาต่าง ๆ ที่แต่ละคนอาจเจอในชีวิต และการอธิบายการสร้างบุคคลิกภาพของเด็ก[6](ซึ่งจากงานวิจัยนี้สนับสนุนทฤษฎีของEriksonที่ว่าผู้ที่แก้ไขปัญหาวิกฤตในช่วงตอนต้นของวัยผู้ใหญ่ได้คือผู้ที่สามารถแก้ไขวิกฤตช่วงวัยเด็กได้)

การประยุกค์ใช้ทฤษฎี

  • ผู้ปกครอง

    • วัยทารก

      • ระยะ Trust vs. Mistrust

      • เป็นระยะที่พึ่งปัจจัยพื้นฐานจากผู้ปกครอง เพื่อสร้างสภาวะแวดล้อมว่าโลกปลอดภัยและไม่อันตราย ผู้ปกครองควรปฏิบัติตัวโดยการแสดงว่าตนเองพึ่งพาได้ มีความพร้อมของอารมณ์ และให้การยอมรับ เช่น เมื่อร้องหิวควรป้อนอาหารให้ทานไม่ใช่เมินเฉย พยายามถือเด็กให้ใกล้ตัว และเมื่อเด็กร้องให้ ให้แสดงความอ่อนโยน และให้เด็กรู้สึกอุ่นใจว่าจะอยู่ด้วยไม่หนีไปไหน

    • ช่วงต้นของวัยเด็ก (18 เดือน - 3 ปี)

      • ระยะ Autonomy vs. Shame and Doubt

      • เป็นระยะที่ควบคุมตัวเอง ผู้ปกครองควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาการความเป็นอิสระ แต่ในขณะเดียวกันก็ดูแลความปลอดภัย การปกป้องมากเกินไป หรือ การติเป็นการแสดงถึงความไม่สำเร็จของเด็ก ส่งผลให้เกิดปมได้ ผู้ปกครองควรให้กำลังใจเมื่อเด็กพลาดและค่อย ๆ สอนแนวทางที่ถูก และให้เด็กสามารถตัดสินใจง่าย ๆ ได้ เช่น ให้เลือกชุด การฝึกเข้าห้องน้ำ ฯลฯ ให้เด็กได้ลองทดลองขีดความสามารถตนเอง เช่น ให้เด็กลองใส่เสื้อเองจนกว่าเด็กจะสำเร็จ หรือ ขอความช่วยเหลือ

    • วัยอนุบาล (3 - 6 ปี)

      • ระยะ Initiative vs Guilt

      • เป็นวัยที่มีทักษะทางร่างกายและสังคมเพิ่มขึ้น สามารถควบคุมเวลาเล่นและการเข้าสังคมได้ แต่สิ่งนี้อาจเกินขอบเขต หรือ ทำให้เกิดอันตรายได้ การลงโทษความคิดริเริ่มต่าง ๆ อาจทำให้เกิดความรู้สึกผิดได้ ผู้ปกครองควรแนะนำแนวทางที่ถูกอยู่เสมอและพยายามตั้งขอบเขต

    • วัยประถม (6 - 12 ปี)

      • ระยะ Industry vs Inferiority

      • เป็นช่วงที่มีทักษะทางวิชาการใหม่ ๆ และทักษะสังคมเพิ่มขึ้น โดยควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะความสามารถต่าง ๆ ของตนเอง ผู้ปกครองควรสนับสนุน และให้กำลังใจเพื่อให้เกิดความยินดีในการเรียน การทำงานและความมุ่งมั่นในความสำเร็จ และมีความอดทนเมื่อเด็กเรียนรู้ได้ไม่เร็ว และคอยบอกถึงว่าความสามารถเด็กสามรถไปได้ไกลแค่ไหน

    • วัยรุ่น(12 - 18 ปี)

      • ระยะ Identity vs Role Confusion

      • เป็นระยะที่หาตัวตนของตัวองและสำคัญสุด ผู้ปกครองจะสามารถคุมได้น้อยลงเพื่อเตรียมเด็กให้เป็นผู้ใหญ่ และความสัมพันธ์ของเพื่อนเป็นที่สำคัญของระยะนี้ ผู้ปกครองควรสนับสนุนให้เด็กได้ค้นหาตัวตน

  • สถานศึกษา

    • จากทฤษฎีของ Erikson ตัวตนจะสร้างจากช่วงของความขัดแย้งเรียกว่าความขัดแย้งทางสังคมจิตใจ (Psychosocial Crisis) โดยสามารถนำทฤษฎีมาใช้กับสถานศึกษาได้ 3 ระยะ คือ ช่วงอายุ 3 - 6 ปี ใช้เรื่อง “Initiative vs. Guilt”, ช่วง 6 - 12 ปีใช้ “Industry vs. Inferiority” และช่วงวัยรุ่นใช้ “Identity vs. Role Confusion”

    • ช่วงอนุบาล(3 - 6 ปี)

      • ระยะนี้ควรให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า

      • เปิดโอกาสให้เด็กสามารถตัดสินใจและปฏิบัติตามที่ตัดสินใจ - เนื่องจากสิ่งนี้อาจส่งผลถึงการเรียนรู้ที่จะวางแผนด้วยตนเอง หรือ การเชื่อมโยงการตักสินใจด้วยตนเองกับการลงโทษ การเปิดโอกาสจะทำให้เป็นการแสดงการสนับสนุนด้านที่เด็กสนใจ และสร้างความมั่นใจในศักยภาพของตัวเด็ก

      • แบ่งเวลาให้เด็กสามารถตัดสินใจเลือกกิจกรรมต่าง ๆ ด้วยตนเองได้ -เป็นการฝึกให้เด็กสามารถตัดสินใจด้วยตนเอง

      • ให้คำสั่งหรือกิจกรรมโดยให้ขั้นตอนง่าย ๆ - เป็นการเพิ่มโอกาสให้เด็กเกิดความสำเร็จ และเป็นการสนับสนุบให้เกิดความกล้าที่จะลองเสี่ยง ถ้าไม่มีหลักการนี้อาจทำให้เด็กเกิดความกังวลในการปฏิบัติกิจกรรมและกังวลเมื่อทำสำเร็จได้ไม่ดี

      • ศึกษาว่าเด็กมีความสนใจอะไรและพยายามสร้างภาระงานให้เกี่ยวข้องกับความสนใจของเด็ก

      • ตรวจสอบว่าเกมหรือกิจกรรมที่มีการแข่งขันมีความเท่าเทียมกันที่สุด - เช่น เด็กที่แพ้ในเกมคณิตศาสตร์อาจคิดว่าตัวเองไม่เก่งเลข และในทางกลับกัน นักเรียนที่ไม่ได้เก่งมากแต่ภาพรวมทีมทำได้ดี เด็กก็จะเกิดความมั่นใจในทักษะทางคณิตศาสตร์

      • ยอมรับความผิดพลาดที่เป็นผลจากการที่เด็กลงมือทำด้วยตนเอง ถ้าเด็กสร้างปัญหาที่ค่อนข้างหนัก ให้สอนแนวทางการแก้ปัญหาและผลลัพธ์แทนที่จะลงโทษ -จะทำให้เด็กเกิดความมั่นใจในการลองปฏิบัติกิจกรรมด้วยตนเอง

      • ใช้กิจกรรมที่ใช้แรงกายภาพในการสอนความยุติธรรมและการมีน้ำใจนักกีฬา

    • ช่วงประถม (6 - 12 ปี)

      • ระยะนี้ควรให้ความสำคัญกับความสำเร็จและความสัมพันธ์กับเพื่อน

      • เปิดโอกาสให้เด็กตั้งเป้าหมายที่เป็นไปได้

        • อาจให้เด็กตั้งเป้าหมายทางการเรียนหรือเป้าหมายส่วนตัว และดูพัฒนาการของเป้าหมายเรื่อย ๆ

        • แบ่งภาระงานออกเป็นข่วง ๆ เพื่อให้เด็กสามารถวางแผนเวลาเองได้ เช่น แทนที่จะสั่งงานแล้วเก็บทีเดียวจบ ให้แบ่งงานเป็นช่วง ๆ เช่น ใบงานระดมความคิด งาน draft คร่าว ๆ และงานฉบับสมบูรณ์

        • ถ้าสำเร็จเด็กจะรู้สึกว่าความตั้งใจจะทดแทนตอนเสร็จ และอาจจะไม่รู้สึกมองชีวิตผ่านไปวัน ๆ

      • สั่งงานเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้เด็กให้ทำเสมอโดยพยายามเวียนให้เด็กได้มีส่วนร่วมทุก ๆ คน -เช่น ยกเก้าอี้ ทำเวร เก็บหรือแจกใบงาน ฯลฯ จะทำให้เด็กรู้สึกประสบความสำเร็จ

      • ตั้งกฎในห้องเรียน โดยพยายามให้เด็กมีส่วนร่วมในการตั้งกฎ

      • สอนแนวทางในการเรียน -อธิบายการบริหารเวลาการจัดเก็บสิ่งต่าง ๆ ให้เป็นระเบียบ ถ้าเด็กทำทักษะการจัดการเหล่านี้ไม่สำเร็จ อาจกระทบผลการเรียน ทำให้เด็กรู้สึกกังวลในความผิดพลาด

      • คอยให้ข้อเสนอแนะอยู่เรื่อย ๆ โดยเฉพาะคนที่ดูรู้สึกหมดกำลังใจ และชมเมื่อเด็กทำสิ่งที่ดี และให้คำแนะนำกับอะไรที่ผิด - หากโรงเรียนมีกิจกรรม เช่น นักเรียนดีเด่นประจำเดือน ให้เลือกนักเรียนที่มีปัญหาทางพฤติกรรมหรือทางการเรียนแต่มีความพยายามในการปรับตัว และนักเรียนที่มีความสำเร็จสูง นี่เป็นการแสดงให้เด็กว่าความพยายามไม่ได้เสียเปล่าถึงแม้จะยังไม่ประสบความสำเร็จ

      • ให้เด็กเรียนรู้ว่าการพยายามให้งานสมบูรณ์ไม่ได้สำคัญเท่าการเรียนรู้จากความผิดพลาด สอนให้เด็กภูมิใจและเดินหน้าต่อไป

      • สนับสนุนให้เด็กช่วยเหลือเด็กที่อาจมีปัญหาทางสังคมหรือทางการเรียนแทนที่จะล้อเลียนหรือรังแกเด็กคนอื่น

      • สนับสนุนกิจกรรมที่ใช้กำลังทางกายภาพเพื่อสนับสนุนพัฒนาการทางสังคมและภูมิใจในศักยภาพของตนเองและผู้อื่น

    • ช่วงมัธยมศึกษา/วัยรุ่น

      • ระยะนี้ควรให้ความสำคัญกับการสร้างอัตลักษณ์ของตนเองและคุณค่าตัวเอง

      • ให้ข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลตัวอย่างที่ดี- วัยรุ่นที่สามารถเข้าใจ Identity vs. Role Confusionได้ จะทำให้เข้าใจตัวตนของตัวเองได้ อาจให้ความรู้เกี่ยวกับแบบอย่างที่เป็นผู้หญิง หรือ ชนกลุ่มน้อยในสังคมเพื่อให้นักเรียนทุกคนสามารถเข้าถึงได้ หรืออาจจะกล่าวถึงบุคคลที่เป็นที่รู้จักไม่มากในวิชาที่สอน

      • ยกตัวอย่างผลงานที่ดี เพื่อให้สามารถเปรียบเทียบผลงานที่ดีเป็นอย่างไรเปรียบเทียบกันตนเอง - เป็นการแสดงแนวทางในการเชื่อมโยงความสำเร็จทางการศึกษากับตัวตนของตนเอง โดยให้ความสำคัญกับการยกตัวอย่างบุคคลตัวอย่างสำหรับงานที่เขาสนใจมากกว่าเป้าหมายของอาชีพ อาจจะสามารถทำโดยการเชิญวิทยากรหรือหากิจกรรมให้หลากหลายที่สุดเท่าที่เป็นไปได้เพื่อให้นักเรียนได้สัมผัสกับอาชีพต่าง ๆ

      • เปิดโอกาสให้นักเรียนสามารถใส่ความสนใจของตนเองเข้าไปในงาน เพื่อให้เกิดความรู้สึกว่าความสนใจต่าง ๆ ของเขาเป็นส่วนสำคัญของตัวตนของเขา

      • ติพฤติกรรมแทนการต่อว่าหรือประณาม -วัยนี้เป็นวัยที่ทดลองบุคคลิกต่าง ๆ การติพฤติกรรมอาจทำให้ทิ้งพฤติกรรมนั้นและลองพฤติกรรมใหม่

      • อธิบายผลระยะยาวของพฤติกรรมที่ไม่ดี หรือผลงานที่ไม่ดีเพื่อให้รู้ถึงผลกระทบต่อตนเองและผู้อื่น เพื่อให้พัฒนาความรับผิดชอบมากขึ้น

      • สนับสนุนความสนใจต่าง ๆ ของนักเรียน -เช่น เข้าร่วมงานต่าง ๆ ของโรงเรียน เช่น งานแสดงละคร, งานคอนเซิร์ต หรือ งานแข่งขันกีฬา เพื่อสนับสนุนตัวตน คือการเป็นนักแสดง นักดนตรี หรือ นักกีฬา และแสดงถึงการยอมรับเมื่อแสดงงานที่เกี่ยวกับความสนใจหรือจุดเด่นตนเอง

      • ปฏิบัติกับนักเรียนให้เท่าเทียมกันทุกคน ไม่ลำเอียงกับนักเรียนกลุ่มใดเป็นพิเศษ

      • สนับสนุนการพัฒนาความมั่นใจของนักเรียนโดยการให้ความหลากหลายในการแก้ปัญหาต่าง ๆ

      • เชื่อมโยงทักษะในชีวิตประจำวันกับตารางการสอนเพื่อสร้างความมั่นใจและความพอใจในตนเอง

      • จัดกิจกรรมที่ใช้พละกำลัง เพื่อคลายความเครียดและความรู้สึกลบต่าง ๆ และพัฒนาศักยภาพทางอารมณ์

  • ที่ทำงาน

    • หลาย ๆ บริษัทมีการนำทฤษฎีนี้มาใช้ โดยมีหลักการคือ เมื่อพนักงานเข้าทำงานใหม่จะเข้าสู่ความสัมพันธ์ใหม่และจะมีพัฒนาทางจิตสังคมตามทฤษฎีของErikson ซึ่งหลาย ๆ บริษัทนำมาประยุกต์ใช้ในคู่มือนโยบายทรัพยากรมนุษย์ (Human Resources Policy Manual) และยังแสดงถึงระบบความคิดของพนักงานในบริษัทได้

    • Trust vs Mistrust

      • เมื่อสมัครงานใหม่จะเกิดคำถามว่า”เราเชื่อองค์กรนี้ได้หรือไม่”หรือ”เราสามารถเชื่อและไว้ใจเพื่อนร่วมงานได้หรือไม่” ถ้าสามารถเชื่อใจได้ก็จะเกิดกำลังใจและความหวังในงานในอนาคตและไปในระยะของ Erikson อันต่อไปได้ แต่ถ้าผู้จ้างคอยติต่าง ๆ จะทำให้เกิดความไม่ไว้ใจ จะทำให้รู้สึกว่าความพยายามไม่ได้ตอบแทน อาจจะรู้สึกไม่อยากให้ความร่วมมือ ต้องการเก็บข้อมูล หรืออาจหักหลังองค์กรในภายหลังได้

      • นอกจากนี้ มีการค้นพบว่าความเชื่อใจทำให้เกิดพนักงานที่กระตือรือร้นมากขึ้นถึง 106% และสร้างกำไรได้มากขึ้น 50%[7]

    • Autonomy vs Shame and Doubt

      • เช่น ถ้าเจ้านายเปิดโอกาสและสนับสนุนให้มีอิสระ จะทำให้สามารถเป็นตัวเองได้ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดเกิดความกล้าที่จะแสดงความคิดสร้างสรรค์ในการแก้ปัญหาต่าง ๆ แต่ในขณะเดียวกันหากเจ้านายเป็นตรงกันข้ามจะทำให้กลัวที่จะหาแนวคิดใหม่ ๆ หรือกลัวที่จะแสดงความคิดสร้างสรรค์ของตนเอง

    • Initiative vs Guilt

      • เช่น ถ้าพนักงานถูกติทุกครั้งที่ให้คำแนะนำจะทำให้เกิดความรู้สึกผิดในการทำสิ่งต่าง ๆ ที่นอกเหนือจากคำสั่ง แต่ผู้ที่มีความคิดริเริ่มจะสามารถตั้งทิศทางหรือเป้าหมายของชีวิตตัวเองหรือองค์กรได้

    • Industry vs Inferiority

      • ควรให้การสนับสนุนทั้งพนักงานที่ตั้งใจทำงานและพนักงานที่อาจจะตั้งใจไม่เทียบเท่า เพื่อสร้างความมั่นใจและเกิดประสิทธิภาพในการทำงานนั้น ๆ

    • Identity vs Role Confusion

      • เมื่อสร้างความสัมพันธ์ใหม่หรือร่วมงานใหม่ เราต้องหาพฤติกรรมที่เหมาะสมกับบทบาทใหม่ ซึ่งการเข้าใจตัวตนจะสร้างความมั่นใจและความสบายใจซึ่งส่งผลให้เกิดความทุ่มเทในบทบาทนั้น ๆ และสามารถแสดงพฤติกรรมตามบทบาทได้

    • Intimacy vs Isolation

      • ระยะนี้เกี่ยวกับการสร้างความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานว่าจะใกล้ชิดหรือออกห่าง ผู้ที่ไม่ยอมเข้าใกล้คนอื่นหรือสันโดษมักจะทำงานได้ไม่มีประสิทธิภาพ และในทางกลับกันผู้ที่เข้าสังคมจะสามารถพัฒนาทักษะที่เป็นพื้นฐานของการสร้างความสัมพันธ์ร่วมกับผู้อื่นและความสนิทสนมได้ได้

    • Generativity vs Stagnation

      • พนักงานวัยกลางคนมักจะให้ความสนใจไปหาเพื่อนร่วมงานที่เด็กกว่าโดยจะให้ความช่วยเหลือต่างๆ ทำให้เกิดความสัมพันธ์แบบการสั่งสอนหรือแนะนำ

    • Integrity vs Despair

      • ระยะนี้เกี่ยวกับพนักงานที่ใกล้วัยเกษียน มักจะเกี่ยวข้องกับการมองย้อนอดีต ผู้คนที่ทำคุณประโยชน์ให้องค์กรมักจะรู้สึกประสบความสำเร็จและภูมิใจกับความสำเร็จนั้น แต่ในทางกลับกันถ้ารู้สึกไม่ดีต่อองค์กร หรือผลงานภายในองค์กรของตัวเอง จะทำให้รู้สึกสิ้นหวังกับอดีตและอนาคตได้]


เขียนโดย สิรมน กาญจนจิตกร

ออกแบบโดย สิริกร บุญสำเร็จ


แหล่งอ้างอิง

Cherry, Kendra. “How Erik Erikson's Own Identity Crisis Shaped His Theories.” Verywell Mind, Verywell Mind, 20 Mar. 2020, https://www.verywellmind.com/erik-erikson-biography-1902-1994-2795538#childhood.


Cherry, Kendra. “Understanding Erikson's Stages of Psychosocial Development.” Verywell Mind, Verywell Mind, 18 July 2021, https://www.verywellmind.com/erik-eriksons-stages-of-psychosocial-development-2795740#citation-3.


Didier, Suzanna. “The Role of Parents in Erikson's Stages of Development.” How To Adult, 14 Jan. 2020, https://howtoadult.com/role-parents-eriksons-stages-development-3058.html.


Enright, Robert. “Why Erik Erikson's Psychosocial Theory Is Not Quite Right.” Psychology Today, Sussex Publishers, 12 Apr. 2021, https://www.psychologytoday.com/us/blog/the-forgiving-life/202104/why-erik-eriksons-psychosocial-theory-is-not-quite-right. [3]


“Erikson's Stage Theory in Its Final Version.” Erik Erikson| Developmental Psychologist and Psychoanalyst , https://sites.google.com/site/erikeriksondl825/home/stages-of-psychosocial-development. Accessed 16 Nov. 2021.


Fadjukoff, Päivi, et al. “Identity Formation in Adulthood: A Longitudinal Study from Age 27 to 50.” Taylor & Francis, 23 Feb. 2016, https://www.tandfonline.com/doi/full/10.1080/15283488.2015.1121820. [5]


Gilligan, Carol. In a Different Voice: Psychological Theory and Women's Development. Cambridge, Mass: Harvard University Press, 1982, p. 107, https://archive.org/details/indifferentvoice00gill


Kolar, Rachel. “How to Apply Erikson's Theory in Instruction.” The Classroom | Empowering Students in Their College Journey, 5 Nov. 2021, https://www.theclassroom.com/apply-eriksons-theory-instruction-8400675.html.


LifeXchange.“New HR Insights: Erikson's Theory of Human Development and Its Massive Impact on Your Business.” New HR Insights: Erikson's Theory of Human Development and Its Massive Impact on Your Business, https://lifexchangesolutions.com/eriksons-theory/.

Marcia, J. E., “Development and validation of ego-identity status. Journal of Personality and Social Psychology”, 3(5), 551–558, 1966, doi:10.1037/h0023281 [6]


McLeod, Saul. “Bowlby's Attachment Theory.” Simply Psychology, 2007, https://www.simplypsychology.org/simplypsychology.org-bowlby.pdf. [1]


Mcleod, Saul. “Erik Erikson's Stages of Psychosocial Development.” Erik Erikson | Psychosocial Stages | Simply Psychology, 2018, https://www.simplypsychology.org/Erik-Erikson.html.


McLeod, Saul. “The Strange Situation | Attachment Styles.” Strange Situation | Simply Psychology, 2018, https://www.simplypsychology.org/mary-ainsworth.html. [2]


Meeus, Wim, et al. “Identity Statuses as Developmental Trajectories: A Five-Wave Longitudinal Study in Early-to-Middle and Middle-to-Late Adolescents.” Journal of Youth and Adolescence, Springer US, 17 Nov. 2011, https://link.springer.com/article/10.1007%2Fs10964-011-9730-y. [4]


Third Wave Digital. “Educational Learning Theories: Chapter 8 Required Reading.” LibGuides, 22 Feb. 2021, https://libguides.daltonstate.edu/c.php?g=722740&p=5523432.


Towler, John. “Psychology in the Workplace.” Creative Organizational Design, 24 Apr. 2018, https://www.creativeorgdesign.com/psychology-in-the-workplace/.


Zak, Paul J. “The Neuroscience of Trust.” Harvard Business Review, 31 Aug. 2021, https://hbr.org/2017/01/the-neuroscience-of-trust. [7]


420 views0 comments

Comments


bottom of page