จิตวิทยา (Psychology) เป็นวิทยาศาสตร์แขนงหนึ่งที่ศึกษาเกี่ยวกับความคิด จิตใจ และพฤติกรรม โดยสามารถอธิบายได้จากอิทธิพลของปัจจัยต่าง ๆ เช่น ปัจจัยทางชีวภาพ พันธุกรรม สภาพสังคม สิ่งแวดล้อม ฯลฯ ที่ส่งผลต่อความรู้สึกนึกคิดและการแสดงออกของมนุษย์
จิตวิทยาจึงมีขึ้นพร้อมการมีอยู่ของมนุษยชาติ และเริ่มถูกพูดถึงในช่วงยุคอียิปต์และกรีกโบราณในฐานะส่วนหนึ่งของปัญหาปรัชญาเกี่ยวกับความจริง ความจำและศีลธรรมของมนุษย์ ที่นักปราชญ์นำมาถกกัน กว่าจะถูกแยกออกมาเป็นศาสตร์เฉพาะเมื่อประมาณ 150 ปีมานี้เอง
แล้วทำไมจิตวิทยาถึงเพิ่งได้รับความสนใจ ?
ที่ผ่านมานั้นจิตวิทยาไม่สำคัญหรือ ?
จุดเริ่มต้นของการมีจิตวิทยาเป็น ‘ศาสตร์’ อย่างจริงจัง คือในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 โดยมีการศึกษาทหารผ่านศึกจากสงครามโลกครั้งที่ 1 ในปี ค.ศ.1914-1918 ซึ่งทหารเหล่านี้มีอาการวิตกกังวล ตื่นกลัว ชีวิตหม่นหมองหลังจบสงคราม ทำให้แพทย์ในสมัยนั้นคาดการณ์ว่าอาจเกิดจากสมองถูกกระทบกระเทือนอย่างรุนแรงจากแรงระเบิดและเสียงปืนกลขณะรบ ส่งผลให้ผู้ป่วยเหล่านี้ มีอาการ ‘Shell Shock’ ซึ่งเป็นอาการของโรคที่แพทย์ในปัจจุบันเรียกว่า PTSD; Post-Traumatic Stress Disorder
จากสถิติระบุว่าทหารผ่านศึกกว่าร้อยละ 20 มีอาการดังกล่าวซึ่งมีสาเหตุมาจากเหตุการณ์เดียวกัน ในขณะที่ผู้คนในสมัยนั้นมองทหารกลุ่มนี้ว่าเป็นคนขี้ขลาดและอ่อนแอ
ข้อความข้างต้นแสดงให้เห็นว่าเราสามารถศึกษาและอธิบายที่มาที่ไปของความคิด ความรู้สึก และสภาพจิตใจของมนุษย์ได้ และยังสามารถคาดเดาและเปลี่ยนพฤติกรรม รวมถึงกระบวนการนึกคิดของผู้คนได้ จึงทำให้จิตวิทยาเป็นศาสตร์ที่จำเป็นและสำคัญที่จะต้องศึกษาของมนุษย์
อย่างไรก็ตามผู้คนก็ยังไม่รู้ถึงความสำคัญของจิตวิทยาเท่าไรนัก
ในปัจจุบัน ข้อมูลจาก American Psychological Association มีสถิติออกมาว่าร้อยละ 44 ของคนอเมริกันไม่มีความรู้หรือมีความรู้น้อยมากเกี่ยวกับจิตวิทยา ในขณะที่คนอเมริกัน 1 ใน 5 คนกำลังเผชิญกับภาวะและโรคทางจิตเวชในทุก ๆ ปี
ส่วนในประเทศไทย จากปีงบประมาณ 2561 พบว่าในกรุงเทพฯ มีผู้ป่วย 1 ใน 8 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 12 เป็นโรคหรือมีภาวะทางจิตเวชอย่างใดอย่างหนึ่ง และมีเพียงไม่กี่คนที่เข้ารับการรักษา
ข้อมูลเหล่านี้ยิ่งตอกย้ำว่าการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับความสำคัญของจิตวิทยาให้กับทุก ๆ คนเป็นสิ่งสำคัญ เพราะจะทำให้ผู้คนได้รู้เท่าทันและป้องกันไม่ให้เกิดความสูญเสีย จากภาวะทางจิตเวชในภายหลัง
ดังนั้นจิตวิทยาไม่ได้มีไว้เพื่อใช้ศึกษาหรืออธิบายที่มาที่ไปของจิตใจ พฤติกรรม หรือกระบวนการคิดของมนุษย์เพียงเท่านั้น จิตวิทยายังสามารถช่วยให้เรามีชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอีกด้วย
หากกล่าวโดยทั่วไป จิตวิทยาช่วยป้องกันความเสียหายต่อร่างกายและจิตใจโดยให้แนวทางความคิดเบื้องต้นในการจัดการปัญหาทางใจในชีวิตประจำวัน อย่างการประคับประคองความสัมพันธ์กับผู้คน ปัญหาครอบครัว ความเครียดจากการทำงาน ปัญหาเงินทอง ฯลฯ ซึ่งถ้าปัญหาเหล่านี้ถูกเปลี่ยนแปลงไปเป็นภาวะความเครียดสะสมหรืออาการของโรคทางจิตเวช เราก็สามารถรู้เท่าทันเพื่อรับการวินิจฉัย และบำบัด ดูแล รักษาจากจิตแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ
หากกล่าวในเชิงปัจเจกบุคคล จิตวิทยาช่วยให้เราสามารถทำความเข้าใจการกระทำ ความคิด และพฤติกรรมของตนเองมากขึ้น ส่งผลให้เราสามารถตัดสินใจ หลีกเลี่ยงความเครียด และบริหารจัดการเวลาในชีวิตได้ดีขึ้น รวมถึงช่วยให้ค้นพบเป้าหมายในชีวิตและบรรลุเป้าหมายนั้นได้ อันจะนำไปสู่การดำเนินชีวิตให้มีความสุขและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
นอกเหนือจากนี้ การมีความรู้ทางจิตวิทยายังทำให้เราสามารถจัดการปัญหา เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ปรับทุกข์หรือแก้ไขจุดบกพร่องในชีวิตได้จากการเข้าใจตนเองและสิ่งแวดล้อมรอบตัว รวมถึงการค้นพบและพัฒนาศักยภาพของตนเองให้เต็มที่ได้
ในเชิงสังคม มีผู้คนจำนวนมากที่ไม่รู้ถึงการมีอยู่ของสาขาย่อยอื่น ๆ ของจิตวิทยา นอกเหนือจากจิตวิทยาการปรึกษา (Counseling Psychology) หรือจิตวิทยาคลินิก (Clinical Psychology) ซึ่งจิตวิทยาแขนงต่าง ๆ ต่อไปนี้ ล้วนแล้วมีความสำคัญต่อสังคมของมนุษย์ อาทิเช่น
การนำจิตวิทยาไปใช้กับการศึกษาและการแนะแนวการศึกษา (Educational Psychology) เพื่อพัฒนาวิธีการส่งเสริมการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพในการเรียนรู้เพิ่มมากขึ้น โดยการนำความรู้ทางจิตวิทยาไปใช้ในการสำรวจปัญหาเกี่ยวกับการศึกษา การแนะนำสายอาชีพ การช่วยเหลือผู้เรียนเกี่ยวกับการศึกษา และครอบคลุมถึงการศึกษาดูแลสภาพจิตใจของผู้เรียนอีกด้วย
การนำจิตวิทยาไปใช้ในกระบวนการยุติธรรม เกิดเป็นนิติจิตวิทยา (Forensic Psychology) ที่มีความสำคัญต่อการร่างกฎหมาย การฟื้นฟูจิตใจเหยื่ออาชญากรรม ผู้เคราะห์ร้ายหรือนักโทษ รวมถึงการเป็นที่ปรึกษาคัดเลือกบุคคลากรเข้ามาทำงานในองค์กร
ในแง่ของธุรกิจ สื่อ หรือวงการกีฬา มีการนำจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์กร (Industrial Psychology) มาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้กับบุคลากรในสถานที่ทำงาน การคัดเลือกบุคลากร การบริหารองค์กร การวิจัยตลาด ตลอดจนการพิจารณาพฤติกรรมผู้บริโภค
จิตวิทยาพัฒนาการ (Development Psychology) ศึกษาพัฒนาการของมนุษย์ในช่วงวัยต่าง ๆ ทั้งพัฒนาการทางร่างกาย จิตใจ สติปัญญา อารมณ์ และการแสดงออก ตั้งแต่เกิดจนตาย แบ่งตามช่วงวัย เช่น จิตวิทยาเด็ก จิตวิทยาวัยรุ่น เป็นต้น
จิตวิทยาสังคม (Social Psychology) เป็นการศึกษาพฤติกรรมการอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มของมนุษย์ โดยศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างผู้คน แนวโน้มและอิทธิพลของมนุษย์ที่มีผลต่อกันและกัน เพื่อทำความเข้าใจผลกระทบของสภาพสังคมหรือสภาพแวดล้อมที่มีต่อความคิดและพฤติกรรมของมนุษย์
ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของสาขาทางจิตวิทยาที่มีอยู่ ดังนั้นเราสามารถพูดได้ว่าจิตวิทยาเป็นศาสตร์ที่อยู่ในทุก ๆ ที่ที่มีมนุษย์
จิตวิทยาจึงสำคัญต่อชีวิตของพวกเราทุกคน
เขียนโดย เอม อัตตะริยะ
ออกแบบโดย สิริกร บุญสำเร็จ
แหล่งอ้างอิง:
สืบค้นเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2564, จาก https://open.spotify.com/episode/6qq4O8OwJ0jnieqjLVzU81?si=oys-Z912QDCi8Bg2BQProg
Saul Mcleod. (2562). What is Psychology?. สืบค้นเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2564, จาก https://www.simplypsychology.org/whatispsychology.html
Kendra Cherry. (2563). What Is Psychology?. สืบค้นเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2564, จาก https://www.verywellmind.com/psychology-4014660
tegna2017. (2561). The Importance of Psychology in Today’s World. สืบค้นเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2564, จาก https://www.udc.edu/social-udc/2018/03/07/importance_psychology_todays_world/
Raymond Philippe. (2564). The Importance of Psychology. สืบค้นเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2564, จาก https://owlcation.com/social-sciences/Psychology-and-its-Importance
The Scientific World. (2562). The Importance of Psychology in Our Daily Lives - How Psychology can Help You?. สืบค้นเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2564, จาก https://www.scientificworldinfo.com/2019/11/the-importance-of-psychology-in-our-daily-lives.html
Psychology Canada. (2564). The Importance of Psychology. สืบค้นเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2564, จาก https://psychology-canada.ca/the-importance-of-psychology/
นิสิต ป.บัณฑิต รุ่น 1 ห้อง 5 มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. (2559). จิตวิทยาการศึกษา. สืบค้นเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2564, จาก https://sites.google.com/site/psychologymcu5/citwithya-kar-suksa/2-khwam-sakhay
Pipatpong Yenjai. (2558). ความสำคัญของจิตวิทยา. สืบค้นเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2564, จาก https://sites.google.com/site/sportpsychology2539/citwithya-khux-xari/khwam-sakhay-khxng-citwithya
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สักกพัฒน์ งามเอก. (2562). จิตวิทยามีประโยชน์จริงหรือสำหรับมนุษย์. สืบค้นเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2564, จาก https://smarterlifebypsychology.com/2019/11/12/จิตวิทยามีประโยชน์จริง/
กรมสุขภาพจิต. (2562). คนไทยฆ่าตัวตาย ปีละ 5.3 หมื่นคน เฉลี่ย 6 คน/ชม. แนะแนวทางการป้องกัน. สืบค้นเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2564, จาก https://www.dmh.go.th/news-dmh/view.asp?id=29720
Natchaphom B. (2564). จิตวิทยา เรียนอะไร แล้วจบมาสามารถทำงานอะไรได้บ้าง?. สืบค้นเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2564, จาก https://www.sanook.com/campus/1403611/
Comments