ปกติแล้วคุณเลือกที่จะเก็บอารมณ์ ความรู้สึก หรือปัญหาทุกอย่างไว้กับตนเอง
หรือเลือกที่จะระบายให้ใครสักคนรับฟัง ?
ถ้าหากคุณเป็นคนประเภทแรกล่ะก็ คุณอาจเป็นหนึ่งในหลาย ๆ คนที่เก็บปัญหา อารมณ์และความรู้สึกทางลบไปเรื่อย ๆ จนสะสมเป็นภาวะความเครียดหรือความวิตกกังวลที่อาจนำไปสู่ภาวะทางสุขภาพจิตต่าง ๆ
ถึงแม้ว่าจะมีงานวิจัยออกมาพิสูจน์ว่าการพูดคุยกับผู้คนที่เข้าอกเข้าใจในปัญหาของคุณ หรือการระบายความรู้สึกของตนเองให้ใครซักคนรับฟัง สามารถช่วยลดความเครียดและทุเลาความเจ็บปวดในจิตใจลงได้ อีกทั้งในปัจจุบันมีการรักษาที่เรียกว่า Talking Therapy ซึ่งเป็นการบำบัดเยียวยาผู้คนจากปัญหาภายในใจต่าง ๆ ผ่านการพูดคุยกับนักจิตวิทยา
ในทางกลับกัน คนมีแนวโน้มที่จะไม่กล้าพูดถึงความเจ็บปวดของตนเองให้ผู้อื่นฟัง อาจเป็นเพราะเหตุผลทางสังคม หรือค่านิยมต่าง ๆ ที่ปลูกฝังเรามา ให้เก็บความรู้สึก อารมณ์และความคิดเอาไว้กับตัวเอง หรืออาจเป็นเพราะไม่มีใครที่เข้าใจและเปิดใจรับฟังพวกเขา ส่งผลให้พวกเขาไม่กล้าการพูดถึงความกลัว ความเจ็บปวดหรือปัญหาที่พบ เพราะกลัวว่าจะถูกตัดสินจากสังคมว่าเป็นคนอ่อนแอ หรือเป็นคนไม่เอาไหนที่ไม่สามารถจัดการกับอารมณ์ ความรู้สึกหรือปัญหาของตนได้
การมีอารมณ์ ความรู้สึกและปัญหาเป็นสิ่งที่หล่อหลอมให้เราเป็นเรา ให้เราเป็นมนุษย์คนหนึ่ง
แต่กลับมีผู้คนมากมายซึ่งอาจรวมไปถึงตัวผู้อ่านเองที่ต้องเก็บหรือซ่อนอารมณ์ ความรู้สึก และปัญหาเหล่านี้ไว้กับตัว และไม่สามารถนำแนวคิดที่ว่า การซื่อสัตย์กับตนเองและการยอมรับในสิ่งที่ตนเองเป็น ไปใช้ในชีวิตประจำวันได้
“It’s okay not to be okay“
การรู้สึกไม่ดีหรือการมีปัญหาในใจนั้นเป็นเรื่องปกติ
ในบทความนี้ พวกเราจึงมี 3 TED Talk ดี ๆ ที่จะช่วยสร้างความคุ้นเคยและทลายอคติต่อความกลัวในการพูดถึงสภาพจิตใจ มาให้ผู้อ่านได้ไปลองรับชมรับฟังกัน เพื่อที่จะได้เข้าใจและรู้สึกสบายใจที่จะพูดถึงสุขภาพจิตกับคนรอบตัวมากขึ้น
1. There’s no shame in taking care of your mental health.
โดย Sangu Delle
ผู้พูดเติบโตมาในสังคมแอฟริกันซึ่งเป็นสังคมที่ค่านิยมของความเป็นชาย คือ ผู้ชายต้องไม่แสดงความรู้สึกหรือความอ่อนแอออกมาให้ใครเห็นเพราะมันเป็นเรื่องน่าอับอาย อีกทั้งสังคมแอฟริกันยังมีความเข้าใจเกี่ยวกับสุขภาพจิตอย่างผิด ๆ ว่าหากผู้ใดมีภาวะทางจิตเวช นั่นหมายความว่าผู้นั้นเป็นบ้า ติดยาเสพติดหรืออาจถูกสิ่งเหนือธรรมชาติครอบงำ ทำให้ผู้คนที่มีภาวะทางจิตเวชเป็นเหยื่อในการถูกทารุณกรรมจากผู้คนในสังคม เนื่องจากทวีปแอฟริกาเป็นกลุ่มประเทศที่มีรายได้ต่ำ ทำให้การสนับสนุนจากภาครัฐเกี่ยวกับการดูแลรักษาสุขภาพจิตมีน้อยและมีบุคลากรทางจิตเวชไม่เพียงพอ ส่งผลให้ผู้คนมากมายต้องประสบกับปัญหาดังกล่าวโดยไม่ได้รับการรักษา
สังคมแอฟริกันปลูกฝังผู้พูดหลีกเลี่ยงการพูดหรือการแสดงความรู้สึกของตัวเองมาตลอดชีวิต แทนที่ปัญหาและความรู้สึกทางลบเหล่านั้นจะหายไป มันกลับสะสมจนถึงจุดที่เขาพบตัวเองจมอยู่กับปัญหาและความเจ็บปวดเหล่านั้นมากกว่าเดิมหลายเท่า ประกอบกับการที่เขาพบว่าผู้ชายคนอื่น ๆ ในสังคมก็กำลังเผชิญกับปัญหาเดียวกัน เขาจึงตระหนักว่าการพูดถึงความรู้สึกของตนเองเป็นสิ่งที่สำคัญและเป็นสิ่งที่ทุกคนควรทำได้โดยปราศจากการตราหน้าจากสังคม ดั่งที่เขาได้กล่าวไว้ว่า
“Being honest about how we feel doesn’t make us weak - it makes us human.” (Sangu Delle, 2017)
การซื่อสัตย์ต่อความรู้สึกตนเอง ไม่ได้ทำให้เราอ่อนแอ แต่ทำให้เราเป็นมนุษย์
สามารถรับชมได้ที่
2. Stop the Stigma: Why it’s important to talk about Mental Health | TEDxGainesville
โดย Heather Sarkis
ผู้พูดเป็นอาจารย์ประจำคณะจิตวิทยาที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบียและเป็นอดีตประธานสมาคมจิตวิทยาอเมริกัน เธอเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวชที่มีประสบการณ์การทำงานมากกว่า 15 ปี ในหลากหลายองค์กรด้านสุขภาพจิตเพื่อรณรงค์ให้ผู้คนหยุดมีอคติที่ว่า การมีภาวะทางจิตเวชถือเป็นมลทินอย่างหนึ่ง
อคติเหล่านี้ มักมาจากการความเชื่อผิด ๆ ที่คนรับจากสื่อ เช่น ภาพยนตร์ เกม หรือข่าว เป็นต้น ที่มีแต่ตัวอย่างของอาการทางจิตเวชอย่างรุนแรงและไม่ตรงกับภาวะทางสุขภาพจิตในความเป็นจริงที่มีลักษณะอาการหลากหลายมากกว่าที่สื่อแสดงให้เห็นหรือความเชื่อที่ว่าเราสามารถควบคุมสภาพจิตใจของเราให้หายจากความเจ็บปวดได้ในพริบตา และความเชื่อที่ว่าอาการเหล่านี้เกิดจากนิสัยและพฤติกรรมที่ไม่ดีของผู้ป่วย
ความเชื่อเหล่านี้ส่งผลให้ประชากรผู้ใหญ่เกินครึ่งที่ประสบปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพจิต ไม่ไปพบผู้เชี่ยวชาญเพื่อรับการดูแลรักษาที่ควรได้รับ พวกเขาคิดว่าอาการเหล่านี้ เป็นอาการที่เกิดขึ้นเองในหัว ไม่สามารถพิสูจน์อาการได้ และเป็นเรื่องน่าอับอายที่ไม่ควรถูกยกขึ้นมาพูดถึง
ดังนั้น การสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับสุขภาพจิต และการเปิดรับและพูดคุยเกี่ยวกับสุขภาพจิตอย่างตรงไปตรงมาและเคารพกันและกัน จะสามารถทำให้คนเลิกมีความเชื่อและอคติผิด ๆ เกี่ยวกับสุขภาพจิตและส่งเสริมให้สังคมเป็นสังคมที่น่าอยู่ขึ้น
“If we can start seeing mental illness as people rather than their diagnosis, we can take the first step of breaking that (stigma) cycle. And, we also start to see that people with mental illness aren’t any different than you and I. The first step is to have that courageous conversation.” (Heather Sarkis, 2019)
ถ้าเราเริ่มมองความเจ็บป่วยทางจิตเป็นความเป็นมนุษย์แทนการมองว่าเป็นโรค เราจะสามารถทำลายอคติและเริ่มรู้สึกเห็นใจผู้มีปัญหาทางจิตว่าไม่ได้ต่างไปจากพวกเราเลย ดังนั้นการเริ่มต้นบทสนทนาอันกล้าหาญนี่แหละที่จะนำไปสู่สังคมที่มีความสุขยิ่งขึ้น
สามารถรับชมได้ที่
3. Imagine There Was No Stigma to Mental Illness | TEDxCharlottesville
โดย Dr. Jeffrey Lieberman
ผู้พูดเป็นจิตแพทย์ที่มีผลงานเขียนหนังสือและบทความเกี่ยวกับความผิดปกติทางจิตเวชและสุขภาพจิตกว่า 12 เล่ม และ 500 บทความ
ถึงแม้ว่าผู้พูดจะเป็นจิตแพทย์ที่ประสบความสำเร็จและมีผลงานมากมาย ความพยายามในการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับสุขภาพจิตที่ถูกต้องเพื่อทำให้ผู้คนกล้ามารับการรักษาที่ถูกต้องก่อนเกิดปัญหาทางสุขภาพจิตของเขากลับยังไม่สัมฤทธิ์ผลนัก ผู้คนยังปฏิเสธอารมณ์ ปัญหาและความรู้สึกของตนเอง และไม่คิดว่าการมารับการวินิจฉัยจากจิตแพทย์นั้นเป็นสิ่งจำเป็น
เนื่องจากผู้คนยังมีอุปสรรคในการพูดเรื่องสุขภาพจิตอย่างเปิดเผยและตรงไปตรงมา อาทิเช่น ความเข้าใจของคนส่วนใหญ่ที่คิดว่าสุขภาพจิตนั้นไม่สำคัญและเป็นสิ่งพิสูจน์ไม่ได้ ในขณะที่โรคทางกายภาพเป็นที่ยอมรับของทุกคนว่าเป็นสิ่งที่อันตราย และควรได้รับการยกเว้นจากงาน การเรียน หรือหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบเพื่อรับการรักษา แต่พอเป็นเรื่องเกี่ยวกับสุขภาพจิต ผู้คนกลับไม่เชื่อว่าเป็นสิ่งที่มีอยู่จริงและมองว่าการรักษาเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็น เป็นต้น
ถ้าหากไม่มีอุปสรรคเหล่านี้ ผู้คนจะเข้าถึงการรักษาก่อนผู้ป่วยจะสะสมปัญหาทางจิตเวชจนนำไปสู่การก่ออาชญากรรมและสร้างความเสียหายแก่ตนเองและสังคม
นอกจากนี้ ถ้าอุปสรรคทางสังคมดังกล่าวลดลงและมีการลงทุนสร้างสังคมและชุมชนที่ทุกคนสามารถเข้าถึงสวัสดิการและบริการสาธารณสุขทางด้านจิตวิทยา จะสามาถลดอัตราความรุนแรง และลดจำนวนผู้ป่วยทางสุขภาพจิตได้ ยิ่งไปกว่านั้น การลงทุนด้านจิตวิทยาสามารถลดการค่าใช้จ่ายทางด้านสาธารณะสุขและการแพทย์ ลดอัตราการตายและความเจ็บป่วยทางกายภาพ และเพิ่มผลตอบแทนทางเศรษฐกิจได้อีกด้วย
ดังนั้น ผู้พูดจึงแนะนำจากประสบการณ์การทำงานของเขาว่า การเริ่มต้นลดอุปสรรคของการพูดถึงความรู้สึก อารมณ์ และปัญหาทางใจให้ผู้อื่นฟัง คือการมีจิตใจเมตตาและเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน
“What really struck me the most about her email was the fact that it wasn’t my medical knowledge or my clinical skills that she keenly remembered. It was the fact that I showed compassion for her.”
(Dr. Jeffrey Lieberman, 2016)
สิ่งที่ทำให้ผมประหลาดใจที่สุดเกี่ยวกับข้อความของเธอคือสิ่งที่เธอจำได้จากการรักษากับผมไม่ใช่ความรู้ทางการแพทย์ที่ผมใช้รักษาเธอ แต่เป็นความเห็นอกเห็นใจที่ผมแสดงต่อเธอ (เจฟฟรีย์กล่าวถึงอีเมลจากหนึ่งในคนไข้ที่เขาเคยรักษาเมื่อยี่สิบกว่าปีที่แล้ว)
สามารถรับชมได้ที่
เขียนโดย เอม อัตตะริยะ
แหล่งอ้างอิง :
Eli’s Place. (2560). 10 Powerful TED Talks About Mental Health. สืบค้นเมื่อ 22 พฤศจิกายน 2564, จาก
Australia Councelling. (2563). The 26 Best TED Talks About Mental Health. สืบค้นเมื่อ 22 พฤศจิกายน 2564, จาก https://www.australiacounselling.com.au/best-ted-talks-mental-health/
CAPS Counceling and Psychological Services. (2563). TED Talks on Mental Health.
World Health Organization. (2564). World Mental Health Day 2021 / Key messages. สืบค้นเมื่อ 22 พฤศจิกายน 2564, จาก https://www.who.int/key-messages
Phattharadon Werachainarong. (2560). TED TALK คืออะไร ทำความรู้จัก เวทีการพูด สุดยอดแรงบันดาลใจและการเรียนรู้ที่ไม่มีที่สิ้นสุด. สืบค้นเมื่อ 22 พฤศจิกายน 2564, จาก https://allofimpulsion.wordpress.com/2017/07/10/ted-talk-คืออะไร-ทำความรู้จัก-เว/
กรมสุขภาพจิต. (2545). สุขภาพจิตคืออะไร. สืบค้นเมื่อ 22 พฤศจิกายน 2564, จาก https://www.dmh.go.th/faq/mentalhealth.asp
คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล. (2561). สุขภาพจิต. สืบค้นเมื่อ 22 พฤศจิกายน 2564, จาก https://med.mahidol.ac.th/ramamental/generalknowledge/general/06062014-0956
Commentaires