คงจะปฏิเสธไม่ได้ว่าในปัจจุบันสื่อโซเชียลมีเดียได้กลายเป็นส่วนสำคัญในชีวิตประจำวันของเราทุกคนไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็น Facebook, Instagram, Twitter, YouTube ฯลฯ หากจะกล่าวว่าทั้งหมดนี้ได้กลายมาเป็น “ปัจจัยที่ 5” ของชีวิตเราก็คงไม่ผิดนัก แทบจะกลายเป็นเรื่องปกติไปแล้วที่เรามักจะใช้เวลาว่างไปกับการนั่งเลื่อนฟีด แน่นอนว่าโซเชียลมีเดียมีประโยชน์มากมาย ทั้งเป็นแหล่งความบันเทิงที่ดีและสื่อความรู้ที่ยอดเยี่ยม แต่การใช้งานที่มากเกินไปก็ส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตเช่นกัน โดยเฉพาะในหมู่วัยรุ่นที่มีสถิติการใช้งานแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียมากกว่าวัยอื่น ๆ แต่ทั้งในเด็ก ผู้ใหญ่ ไปจนถึงผู้สูงอายุต่างก็ได้รับผลกระทบอย่างมากเช่นเดียวกัน
งานวิจัยหลายชิ้นได้พิสูจน์แล้วว่าการใช้สื่อโซเชียลมีเดียมีผลกระทบอย่างมากต่อสุขภาพจิตของผู้ใช้งาน ทั้งทำให้เกิดความเครียด ความวิตกกังวล ความเหงา ภาวะซึมเศร้า หรือแม้กระทั่งคิดทำร้ายตัวเองหรือฆ่าตัวตาย
ผลกระทบของโซเชียลมีเดียต่อสุขภาพจิตมีดังนี้
Cyberbullying แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะแพลตฟอร์มแบบนิรนาม (Anonymous) กลายเป็นแหล่งกระจายข่าวลือหรือเรื่องที่ทำให้ผู้อื่นเสียหาย ซึ่งทำให้ผู้เสียหายเกิดแผลใจ
ทำให้รู้สึกไม่มั่นใจในตัวเอง ถึงแม้เราจะรู้ว่ารูปภาพต่าง ๆ ที่ถูกโพสต์นั้นถูกปรับแต่งมาแล้ว แต่ก็ยังสามารถทำให้เรารู้สึกไม่พอใจกับชีวิตตัวเองที่เป็นอยู่ หรือไม่พอใจกับรูปลักษณ์ของตัวเองได้ เนื่องจากเราเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับผู้อื่นอยู่ตลอด และยังนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าและความวิตกกังวลอีกด้วย
นำไปสู่ความรู้สึกอิจฉาคนอื่น เมื่อเราเปรียบเทียบตัวเองกับคนในโลกโซเชียลฯ อยู่ตลอดเวลา ความรู้สึกว่าตัวเองไม่ดีพออาจทำให้เราเกิดความอิจฉาและคอยจ้องจับผิดหรือ Cyberbully ผู้อื่นได้
เสียเวลาชีวิต เมื่อเอาแต่กังวลว่าจะพลาดเรื่องสำคัญ จนต้องคอยเช็คหน้าจอมือถืออยู่ตลอดเวลา อย่างที่หลายคนอาจเคยได้ยินประโยคเปรียบเปรยที่ว่า “โซเชียลฯ ดูดวิญญาณ” ซึ่งทำให้เราเสียเวลามหาศาลไปกับการนั่งเลื่อนฟีด และอาจทำให้ไม่มีสมาธิกับงาน นอนดึก หรือเสียโอกาสทำกิจกรรมอื่น ๆ ที่ดีต่อสุขภาพและหน้าที่การงานมากกว่า
ทำให้รู้สึกเหงามากกว่าเดิม หลายคนคิดว่าการใช้โซเชียลฯ นั้นช่วยบรรเทาความเหงา แต่ความจริงแล้วกลับตรงข้าม ซึ่งในปัจจุบันได้รับการพิสูจน์แล้วว่าการใช้งานโซเชียลฯ มีแต่จะทำให้ความรู้สึกเหงาและโดดเดี่ยวเพิ่มขึ้น
ทำให้เราละเลยปัญหาที่แท้จริง หลายคนใช้โซเชียลฯ เป็นหลุมหลบภัย เมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่ตึงเครียด เบื่อหน่าย วิตกกังวล รู้สึกเหงา หรือประสบปัญหาในชีวิต คนส่วนใหญ่ก็มักจะหาทางออกโดยการหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาและเปิดสื่อโซเชียลฯ ซึ่งอาจทำให้รู้สึกดีขึ้นชั่วขณะ แต่ความจริงแล้วกลับเป็นการเบี่ยงเบนความสนใจของเราจากจากปัญหาที่แท้จริง ทำให้ไม่ได้แก้ปัญหาที่ต้นเหตุ และปล่อยให้มันสะสมเพิ่มพูนขึ้นเรื่อย ๆ
แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าเรากำลังใช้โซเชียลฯ ในวิธีที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพอยู่หรือเปล่า ?
สัญญาณที่บ่งบอกว่าเราอาจ “เสพติดโซเชียลฯ (Social media addiction)” เข้าแล้ว
ใช้เวลากับสื่อโซเชียลฯ มากกว่ากับเพื่อนจริง ๆ
ต้องคอยอัปเดตตัวเองในโซเชียลฯ อยู่ตลอดเวลา
มักเปรียบเทียบตัวเองกับคนบนโลกโซเชียลฯ
กังวลว่าคนอื่นโพสต์ในเชิงลบเกี่ยวกับเรา
เสียสมาธิระหว่างเรียนหรือทำงาน
ไม่มีเวลาย้อนมองดูตัวเอง ว่าเราเป็นใคร คิดยังไง อยากทำอะไร
มีปัญหาการนอนหลับ นอนหลับยาก นอนดึกตื่นสาย เข้านอนไม่เป็นเวลา
รู้สึกวิตกกังวล ซึมเศร้า หรือโดดเดี่ยวเมื่อไม่ได้เปิดโซเชียลมีเดีย
ถ้าคุณใช้เวลากับสื่อโซเชียลฯ เป็นระยะเวลานานและเริ่มมีอาการดังที่กล่าวมานี้ บางทีอาจถึงเวลาที่คุณต้องพิจารณาพฤติกรรมการใช้สื่อโซเชียลฯ ของคุณดูใหม่ และปรับสมดุลเพื่อสุขภาพที่ดีขึ้น
วิธีจัดการกับภาวะติดโซเชียลฯ และวิธีใช้งานสื่อโซเชียลฯ เพื่อสุขภาพจิตที่ดี
เลือกติดตามคนที่มีทัศนคติเชิงบวกและสร้างแรงบันดาลใจให้กับเรา
เลิกติดตามคนที่ Toxic
ปิดเสียงแจ้งเตือน
ยอมรับความหลากหลายและความแตกต่าง
ทำ Digital Detox กำหนดเวลาใช้งานโซเชียลมีเดียในแต่ละวัน
ไม่นำโทรศัพท์มือถือหรือแท็ปเล็ตเข้าห้องนอน
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าโซเชียลมีเดียจะส่งผลเสียต่อสุขภาพในหลายแง่มุม แต่โซเชียลมีเดียก็มีข้อดีมากมาย แม้จะไม่สามารถทดแทนปฏิสัมพันธ์ในชีวิตจริงได้ แต่ก็ทำให้เราสามารถติดต่อกับใคร ที่ไหน เมื่อไรก็ได้ และทำให้เราสามารถหาเพื่อนใหม่ที่มีความสนใจเหมือนกันได้ นอกจากนี้ยังเป็นพื้นที่ให้ได้ปลดปล่อยความเป็นตัวเอง และเป็นแหล่งหาข้อมูลความรู้ที่ยอดเยี่ยม
ดังนั้นคุณไม่จำเป็นที่จะต้องตัดโซเชียลมีเดียออกไปจากชีวิต ทุกคนอยู่กับมันได้ เพียงแต่จำกัดเวลาและใช้งานในปริมาณที่เหมาะสม รวมถึงคัดเลือกสื่อดี ๆ ที่ทำให้เรามีความสุขจะดีที่สุด
เขียนโดย ธนนันท์ ศรีบุญเรือง
ออกแบบโดย เกวลิน ศรีสุนนท์
แหล่งอ้างอิง:
Walton, A. G. (2017, October 3). 6 ways social media affects our mental health. Forbes. Retrieved November 19, 2021, from https://www.forbes.com/sites/alicegwalton/2017/06/30/a-run-down-of-social-medias-effects-on-our-mental-health/.
Robinson, L. and Smith, M., M.A. (2021, October). Social Media and Mental Health. Retrieved November 23 , 2021, from
Supamangmee, S. (2021, October 26). Social Media VS. Teen สารพัดข้อถกเถียงเรื่องโซเชียลมีเดียกับสุขภาพจิตวัยรุ่น. Retrieved November 23, 2021, from
Comentarios